NTU Fan Club
บทความของ ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
5. สมรรถนะองค์กร (Organization Competency) ![]() ลักษณะของการมีสมรรถนะ (Competency) ของคนเรา จะประกอบด้วย 1. ความรู้ (Knowledge) ที่หมายถึง ผลจากการศึกษาและหาความรู้ต่าง ๆ ในชีวิต ทั้งออกมาเป็นคนรู้กว้าง และ รู้ลึก ในงานที่ทำ และงานเกี่ยวเนื่องทั้งภาพรวมและลงรายละเอียดได้ ซึ่งเป็นการเก็บความจำ (Remembering) และความเข้าใจ (Understanding) ได้ดี กว่าคนอื่น ๆ 2. ทักษะ (Skills) ที่หมายถึง ความสามารถทางกล้ามเนื้อ ในการเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ภายใต้ข้อจำกัดของ เวลา คุณค่า คุณภาพ ของชิ้นงานที่ได้ ที่อาจรวมถึงการใช้งานความรู้เครื่องมือ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และโปรแกรมใช้งานต่าง ๆ ด้วย 3. ความสามารถเฉพาะ (Abilities) ที่หมายถึง ลักษณะพิเศษ แนวคิด วิธีการ ที่สะท้อนให้ตรงกับ ตำแหน่งงาน (Job Position) คำบรรยายลักษณะงาน (Job Description) และ คุณสมบัติคนในตำแหน่ง (Job Specification) อีกทั้งยังรวมถึงลักษณะเฉพาะตน ได้แก่ ทัศนคติ (Attitude) บุคลิกภาพ (Personality) ค่านิยม (Values) อุปนิสัย (Character) และ จุดยืนของตน (Self Concept) ที่เหมาะกับงานนั้น ๆ สมรรถนะ (Competency) ทั้ง 3 ส่วนนี้ จะส่งผล และนำไปสู่สมรรถนะ 3 ระดับ 1. สมรรถนะเฉพาะตน (Individual Competency) คนที่มีความโดดเด่นในศักยภาพ มีสมรรถนะที่ดี ที่ประกอบด้วยความรู้ ทักษะ และ คุณลักษณะเฉพาะที่ดี ก็จะมีแนวโน้มเติบโต ประสบความสำเร็จ เป็นตัวหลัก และมีความก้าวหน้าต่อไปได้ดี พร้อมต่อการเป็นผู้นำและหัวหน้าตามลำดับชั้นต่าง ๆ ขึ้นไป 2. สมรรถนะในส่วนงาน/ กลุ่ม (Functional/ Group Competency) เป็นสมรรถนะที่เกิดจากการรวมกลุ่มคน ที่เป็นทีม แผนก ส่วนงาน ฝ่าย กลุ่มงาน ที่หล่อหลอมใน ทีมงาน (Workforce) หากเป็นที่รวมของกลุ่มคนที่มี ความรู้ ทักษะ และ คุณลักษณะเฉพาะที่ดี ก็จะทำให้ส่วนงานนั้นมีความโดดเด่น มีพลัง เป็นศูนย์กลางที่สำคัญขององค์กร 3. สมรรถนะหลัก (Core Competency) ที่หมายถึง ภาพรวมสมรรถนะ ที่เกิดขึ้นในองค์กร ที่สะท้อนออกเป็นสมรรถนะองค์กร (Organization Competency) ที่คนภายใน และ นอก องค์กรสามารถรับรู้ได้ ่งแต่ละองค์กรจะมีสมรรถนะต่างกันออกไป และอาจมี จุดเน้น (Focus) ที่ต่างกันได้ และจะสะท้อนเป็นวัฒนธรรมองค์กร (Organization's Culture) และ คุณค่ากลาง (Share Value) ขององค์กรต่อไป เช่น - เน้นตอบสนองลูกค้า (Customer Satisfaction Focus) - เน้นที่ผลกำไร (Profit Focus) - เน้นการสานสัมพันธ์กับตลาด (Market Relationship Focus) - เน้นที่ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return to Shareholders Focus) - เน้นสัดส่วนตอบแทนการลงทุน (Return on Investment Focus) - เน้นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization Focus) - เน้นสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation Focus) - เน้นตอบสนองแรงขับเคลื่อน/ การเปลี่ยนแปลงของตลาด (Market Driven-Change Focus) - เน้นจิตสำนึกคุณภาพ (Quality Focus) เป็นต้น เรื่องสมรรถนะเฉพาะตน ส่วนงาน และ องค์กร ตามลำดับนี้ จะเป็นการส่งผลแบบ ผลกระทบต่อเนื่อง (Domino Effect) ที่ หากมี ความรู้ ทักษะ และ ความสามารถเฉพาะ ได้ดี ก็จะส่งภาพบวกต่อเป็นภาพใหญ่ แต่หากเป็นทางตรงข้าม ก็จะนำไปสู่ความถดถอย หรือตกต่ำของภาพรวมได้ วันนี้ ท่านมีสมรรถนะส่วนตนอย่างไร สมรรถนะส่วนงานแบบไหน และ อยู่ในองค์กรที่มีสมรรถนะหลักทิศทางใด แล้วเป็นไปในทางบวกแล้วหรือยัง ด้วยความปรารถนาดี ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์ |