NTU Fan Club
บทความของ ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์

36. ชีวิต เกิดมาทำไม


ชีวิต เกิดมาทำไม .. เกี่ยวกับแรงจูงใจความต้องการตามทฤษฎีของ Maslow หรือไม่?
คำถามสำคัญของที่มาแห่งการมีชีวิตคนเรา อาจจะมีคำถาม 2 คำถามเกี่ยวเนื่องกัน
คำถามที่ 1 ชีวิตเกิดมาทำไม?
หากตอบตามแนวทางศาสนา จะบอกว่า การเกิดจาก กรรม ที่อาจมาจากกรรมเก่า หรือมาจากบุญจนมาเป็นคนในชาตินี้ บ้างก็จะสรุปว่าเกิดมาเพื่อทำบุญ สร้างกุศล สะสมบุญ สำหรับชาติต่อไป
แต่ถ้าตอบทางวิทยาศาสตร์ ก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกทั่วไป เกิดมาเพราะตามกฎของธรรมชาติ มีจักรวาล มีโลก ก่อให้เกิดวัฎจักรของการมีสิ่งมีชีวิตขึ้นมา ตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียว จนมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตรูปแบบและสายพันธุ์ต่าง ๆ ขึ้นมาทั้งบนบกในน้ำและอากาศ ถ้าเป็นคำตอบแนวทางนี้ สิ่งมีชีวิตเกิดมา เพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ภายใต้แรงขับพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต กิน นอน ขับถ่าย สืบพันธุ์ (และแน่นอนว่าเกิดจากพ่อแม่ ไม่ได้กำหนดได้เอง) แต่คนเกิดมาฉลาด ทำสารพัด สร้างสรรค์ ปรุงแต่งอะไรได้ จึงมีพัฒนาการ เรื่องปัจจัย 4 และรังสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนโลก โดยที่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นทำไม่ได้
แต่ถ้าเป็นคำถามที่ 2 ว่า มีชีวิตอยู่เพื่อทำอะไร?
คำตอบนี้อาจจะน่าสนใจกว่า ว่าเมื่อเกิดมาแล้ว อยู่เพื่ออะไร ซึ่งคำตอบของแต่ละคนอาจจะต่างกัน อยู่ที่ ทัศนคติ (Attitude) ที่เป็นมุมมองเฉพาะตน ที่เกิดจากความรู้ ประสบการณ์ การเรียนรู้ ความคิดเห็น จนตกผลึกเป็นตาม จริต สิ่งที่ช แบบที่ใช่ ที่อยากใช้เวลา ว่าตนจะอยู่เพื่อทำอะไร ทำสิ่งที่ชอบ ถูกจริต เช่น ชอบทำบุญ ชอบปลูกต้นไม้ ชอบเล่นกีฬา ชอบท่องเที่ยว ชอบศิลปะ รวมถึงชอบทำงาน สาขาอาชีพที่ต้องการ บางครั้งเกิดจากปัจจัยภายในตน (Internal Factor) แต่บางครั้งมีแรงขับจากปัจจัยภายนอก (External Factor) ต่าง ๆ เช่น โอกาส จังหวะ ครอบครัวและคนที่เกี่ยวข้อง มีส่วนในการทำให้ทำสิ่งนั้น ๆ
สิ่งที่คนอยากทำ อาจเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งไม่มีดีก็ได้ เช่น ชอบเอาเปรียบคนอื่น คนโกง ทุจริต คอรัปชั่น เป็นต้น หากทางศาสนา ก็ฝากไว้ให้กฎแห่งกรรมเป็นผู้ส่งผลในตอนท้าย แต่ถ้าทางโลก เพื่อให้เป็นทางดี สังคมจึงมีกฎของกลุ่ม กฎสังคม จรรยาบรรณ วัฒนธรรม จนถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่จะควบคุมพร้อมบทลงโทษในสังคมหรือประเทศนั้น ๆ
แต่หากมองเฉพาะเรื่องงานและการพัฒนาตนเพื่อความสำเร็จ ก็จะมีทฤษฎีเรื่องแรงจูงใจของมนุษย์หลายทฤษฎีตามมา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นหรือพัฒนามาจากทฤษฎี Maslow's Hierechy of Needs แทบทั้งสิ้น ซึ่งเป็นมุมด้านการพัฒนาตน ให้เกิดความก้าวหน้า หรือมุ่งเน้นด้านความสำเร็จ ที่สัมพันธ์กับการทำงานเป็นสำคัญ โดยสรุปว่าคนมีความต้องการ 5 ขั้น ได้แก่
   1) ความต้องการพื้นฐานกายภาพ (Physiological Needs) ที่หมายถึง ปัจจัย 4
   2) ความต้องการความปลอดภัยมั่นคง (Safety Needs) ที่ระแวดระวังต่อชีวิต สุขภาพ และทรัพย์สินส่วนตน
   3) ความต้องการความรักความผูกสัมพันธ์ (Love/ Belonging Needs) รวมถึงความรัก มิตรสัมพันธ์และความพึงพอใจในการรวมกลุ่ม
   4) ความต้องการการเป็นที่ยอมรับ (Esteem Needs) ที่ต้องการให้สังคมยอมรับ นับน่าถือตา หรือให้ความสำคัญในกลุ่มหรือสังคมที่อยู่
   5) ความสำเร็จสูงสุด (Self Actualization) คือ เป้าหมายของความสำเร็จที่ต้องการตามนิยามส่วนตน ที่อาจเป็นทั้งวัตถุที่จับต้องได้ หรือ ความสำเร็จที่เป็นความภูมิใจ ชื่อเสียง หรือ รางวัลชีวิตตามเป้าที่ตั้งไว้
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
แลกเปลี่ยนกัน
Fan of Nation University