NTU Fan Club
บทความของ ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์

21. คุณสวมหมวกอะไรอยู่ กับ ทฤษฎีหมวก 6 ใบ (Six Thinking Hats)


เรามักจะได้ยินว่า สวมหมวก ที่แทนถึง ตำแหน่ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ ในฐานะที่เราทำตรงนั้น
โดยภาพรวมให้มองเมื่อสวมหมวกใบนั้น นิยมให้เรียง ขาว แดง ดำ เหลือง เขียว น้ำเงิน และคิดทีละมิติที่เราใส่หมวกนั้น ๆ
    หมวกขาว (White = Fact) คือ ตัวแทนของ ข้อเท็จจริง ในประเด็นโจทย์ที่คิด ให้คิดถึง ข้อมูล ตัวเลข ทุกรายละเอียด เก็บให้ครบ โดยไม่มีอคติ หรือให้ค่าน้ำหนักใดเป็นพิเศษ ดังนั้นการสวมหมวกนี้ให้หาข้อมูลให้ครบเป็นสำคัญ
    หมวกแดง (Red = Feelings) คือ ตัวแทนของ อารมณ์ ความรู้สึก กับประเด็นที่คิดนั้น ว่าส่งผลกับอารมณ์อย่างไร ทั้งอารมณ์พรุ่งพร่านบวกและลบ ชอบไม่ชอบ ดีไม่ดี เห็นด้วยหรือไม่ แม้กระทั่งลางร้ายหรือสัญชาตญาณ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาที่ขบคิดนั้นจะมีอารมณ์แรงหรือเบาแค่ไหน
    หมวกดำ (Black = Negative) คือ ตัวแทนของ ความคิดเชิงลบ ที่เกิดขึ้นจากประเด็นนั้น ก่อให้เกิด จุดด้อย ข้อเสีย อุปสรรค ปัญหา การรุกรานลุกลาม ความสูญเสีย การขยายวง ขนาดใดจากประเด็นโจทย์ที่ขบคิดนั้น
    หมวกเหลือง (Yellow = Benefits) คือ ตัวแทนของ ความคิดเชิงบวก ที่มีได้ คือ จุดเด่น โอกาส ความเป็นไปได้ การมองโลกในแง่ดี ความสุข ความหวัง ความสำเร็จ สิ่งที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้จากประเด็นเรื่องนั้น
    หมวกเขียว (Green = Creativity) คือ ตัวแทนของ ความคิดสร้างสรรค์ เจริญงอกงาม การคิดนอกอบ การมองสิ่งใหม่ (Out of the Box) ที่เป็นไปได้จนหลุดโลกที่คิดได้จากโจทย์ที่มี
    หมวกน้ำเงิน (Blue = Process) คือ ตัวแทนของ ความคิดรวบยอด เมื่อสวมหมวกนี้ ต้องคิด ภาพรวม แผนงาน ขั้นตอน ระบบ ระเบียบ แนวทางการดำเนินงาน ทิศทางอภิปรายและการสรุปผล (ซึ่งมองภาพรวมและประมวลจากหมวก ขาว แดง ดำ เหลือง เขียว มาด้วย) ที่ครบทั้งหมด ได้แก่ ข้อเท็จจริง - อารมณ์ - ลบ - บวก - สร้างสรรค์ - สรุป
ดังนั้นการสวมหมวกเหล่านี้ เป็นการสร้างภาพ แผนภาพความคิด (Mind Mapping) ให้ครบมิติที่มีต่อสิ่งที่เราต้องขบคิดนั้น ๆ ทั้งที่เด็ก/ หรือคนทำงาน มองให้ครบ
บางครั้ง แนวคิดหมวก 6 ใบนี้ อาจนำมาทำเป็นกิจกรรม บทบาทสมมติ (Role Play) ในองค์กร แล้วให้แยกกลุ่มคนเป็น 6 กลุ่ม แบ่งหน้าที่ตามหมวก ให้คิดตามหมวกที่ใส่ของตน (และ กลุ่มหมวกสีน้ำเงินเป็นคนวางแผนคิดรวบยอดและประกอบข้อมูลจากกลุ่มหมวกสีอื่น ๆ มารวมด้วย) หรือให้แต่ละกลุ่มคิดทั้ง 6 หมวก แล้วมาเปรียบเทียบกันก็ได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน หรือวัยทำงาน หากพยายามมองประเด็นต่าง ๆ ในหลากหลายมุมมองของหมวก 6 ใบ ก็จะทำให้เรามองภาพตามสิ่งที่ควรจะเป็นได้ครบยิ่งขึ้นนั่นเอง
   ทุกวันนี้คุณล่ะ ใส่หมวกอะไรบ่อยสุด
ใส่ครบทุกใบหรือไม่ กับเรื่องเรียน เรื่องงาน และเรื่องชีวิตต่าง ๆ

ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
แลกเปลี่ยนกัน
Fan of Nation University